โดย เอลซา ไซครอฟสกี้
เมื่อฉันนึกย้อนหลังถึงเทอมแรกตอนเป็นนักศึกษาปีหนึ่งในวิทยาลัยที่ลืมไม่ลง ภาพชายหนุ่มสูงร้อยเก้าสิบห้าเซนติเมตร หุ่นเก้งก้าง ผมสีดำ ผุดขึ้นมาในหัวคิด สตีฟเป็นรุ่นพี่ปีสี่เรียนคณะเดียวกับฉัน แต่เราพบกันครั้งแรกในหลักสูตรการศึกษาทั่วไป ฉันนึกชมเชยเขา เพราะเขามานั่งแถวแรกกับฉัน ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่หลีกเลี่ยง ถึงแม้ว่าฉันจำหน้าเขาแทบไม่ได้ เพราะเห็นเขาแค่สองสามครั้งในออฟฟิศที่คณะ เขาทักทายฉันด้วยการพยักหน้า ฉันมีช่วงว่างสองชั่วโมงก่อนเข้าชั้นเรียน จึงมุ่งหน้าไปที่ห้องอ่านหนังสือใกล้ๆ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการสอบบทประพันธ์มหากาพย์เรื่องโอดิสซีย์ ฉันต้องประหลาดใจเมื่อเจอสตีฟที่นั่น เขานั่งจิบกาแฟ อ่านเวนิสวาณิช ปรากฏว่าเขามีช่วงว่างสองชั่วโมงเหมือนกัน ฉันนั่งตรงข้ามเขา และหยิบหนังสือขึ้นมา ฉันขี้อายจึงไม่ได้พูดอะไร เพราะรู้ว่าไม่ควรข้ามรุ่น ระหว่างรุ่นพี่ปีสี่กับรุ่นน้องปีหนึ่ง บางครั้งดูเหมือนว่าสตีฟอยากจะพูดอะไรสักอย่าง แต่ไม่ได้พูดอะไร จึงค่อนข้างน่าอึดอัด ทว่าเขามีทีท่าเป็นมิตร สองชั่วโมงถัดไปเรานั่งอ่านหนังสือเงียบๆ ตลอดหลายสัปดาห์ ทุกวันอังคารเราสองคนจะนั่งตรงข้ามกัน อ่านหนังสือเงียบๆ ถึงกระนั้น การมีใครอยู่ด้วยสักคนก็ช่วยคลายความเหงา จากการที่นักศึกษาทุกคนต้องท่องตำราและศึกษาเล่าเรียนไม่หยุดหย่อน การที่เขาตั้งอกตั้งใจเรียนอย่างสม่ำเสมอ เป็นตัวอย่างยอดเยี่ยมต่อฉัน เพราะฉันดิ้นรนกับสิ่งที่ทำให้วอกแวก รวมทั้งความตื่นเต้นในโลกมหาวิทยาลัยที่กว้างใหญ่และสลับซับซ้อน ดังภาษิตที่ว่า “เหล็กลับเหล็กให้คมได้ฉันใด คนเราก็ลับเพื่อนมิตรให้เฉียบแหลมได้ฉันนั้น”1 ในที่สุด วันหนึ่งที่อากาศร้อน เขาต้องการเปิดพัดลมในห้องอ่านหนังสือ เขาเป็นสุภาพบุรุษ จึงถามฉันก่อนว่าขัดข้องไหม เราพูดคุยกัน และค้นพบว่าเราต่างก็ชอบเชคสเปียร์ ภาษาศาสตร์ และมิสซิสลี อาจารย์ยอดนิยมในคณะ เขาดีใจที่ได้แบ่งปันข้อมูลที่มีประโยชน์ในหลักสูตรนักศึกษาปีหนึ่งที่ฉันเรียนอยู่ และแนะนำหลักสูตรที่น่าสนใจบางหลักสูตร ช่วงที่เหลือของเทอม การเรียนในวันอังคารของเราคั่นด้วยการพูดคุยนิดหน่อย รวมถึงมุกตลกสอดแทรก เราทักทายกันในห้องโถง และเรียนวิชาเลือกด้วยกันในเทอมถัดไป สตีฟได้รับผลประโยชน์น้อยมากจากการพูดคุยกับฉัน แต่ฉันตระหนักว่าเขาไม่เพียงเห็นว่าเรารักการเรียนเหมือนกัน ทว่าเขาเห็นใจที่ฉันเป็นรุ่นน้องปีหนึ่งที่ไม่รู้อะไร เหมือนที่เขาเคยเป็น เขาไม่ได้ปล่อยให้กรอบสังคมกีดกั้นเขาจากการเอื้อเฟื้อ พอฉันขึ้นปีสอง เขาสำเร็จการศึกษา เราขาดการติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ฉันจะสำนึกในบุญคุณสตีฟเสมอ เพราะสิ่งที่เขาสอนฉันจากตัวอย่างของเขา เมื่อบรรทัดฐานทางสังคมขัดแย้งกับการแสดงน้ำใจ ขอให้น้ำใจเป็นตัวตัดสิน เราไม่ควรให้ความสำคัญต่อบรรทัดฐานทางสังคมที่ส่งเสริมการแยกตัว เช่น การแบ่งแยกนักศึกษาปีสี่กับปีหนึ่งในมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้มีความรับผิดชอบในการมอบความรักแก่ผู้ที่พบปะ นอกจากนี้ วันอังคารที่เรานั่งอ่านหนังสือเงียบๆ แสดงให้เห็นว่ามิตรภาพที่ดีไม่ต้องสร้างขึ้นจากการเข้าสังคม หรือเสน่ห์ภายนอก มิตรภาพที่ดีมาจากการมีความเคารพต่อกัน ประกอบกับมีความสนใจเหมือนกัน และสิ่งที่อัครสาวกแนะนำไว้ “เหนือสิ่งอื่นใด จงสวมใส่ความรัก เพราะความรักผูกพันเราให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์”2 1. สุภาษิต 27:17 2. โคโลสี 3:14 Text from Activated magazine. Image designed by Brgfx/Freepik and Katemangostar/Freepik.
0 Comments
|
Categories
All
Archives
November 2024
|